การบริหารการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

เอไอเอสมุ่งมั่นในการดำเนินงานร่วมกับคู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจและการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาว โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้แก่สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ทั้งนี้ ได้กำหนดนโยบายและกลยุทธ์เพื่อกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจและมาตรฐานในการดำเนินงานร่วมกับคู่ค้า อีกทั้งยังให้ความสำคัญปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลในทุกกระบวนการบริหารทั้งคู่ค้ารายใหม่และคู่ค้าที่มีอยู่เดิม ถือเป็นจรรยาบรรณของเอไอเอสที่ต้องปฏิบัติตามแนวทางการบริหารงาน ดังนี้

  1. การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นธรรม
    มุ่งเน้นด้านจริยธรรมทางธุรกิจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อต้านการทุจริต ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติต่อแรงงาน เคารพต่อสิทธิมนุษยชน และบริหารจัดการคู่ค้าอย่างยั่งยืน
  2. การจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement)
    กำหนดคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมเป็นข้อกำหนดของการประกวดราคาหรือเป็นข้อกำหนดที่พึงประสงค์ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าและบริการ
  3. กำหนดมาตรฐานการควบคุมคุณภาพช่องทางการจัดจำหน่าย
    ตั้งหลักเกณฑ์การวัดคุณภาพของช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ โดยมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปตามความสามารถในการดำเนินงานของช่องทางที่เป็นคู่ค้าหลัก เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของช่องทาง เช่น
    • กำหนดเงื่อนไขการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่
    • ประกาศใช้ประมวลจริยธรรมคู่ธุรกิจกับคู่ค้าทุกราย
    • กำหนดแนวทางการดำเนินงานของตัวแทนจำหน่าย
    • มีหลักเกณฑ์การวัดคุณภาพในด้านการขายและการบริการ
    • จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานและกระบวนการบริหารความเสี่ยง
    • ลงพื้นที่ตรวจสอบคู่ค้า ในกลุ่มที่เป็นคู่ค้าสำคัญของบริษัทหรือคู่ค้าที่อาจจะมีความเสี่ยงในประเด็นทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการดำเนินงานของเอไอเอส

การคัดเลือกคู่ค้าและการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืน

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับคู่ค้าเราใช้กระบวนการประเมินคู่ค้าและการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมตลอดวงจรชีวิตของคู่ค้า เริ่มต้นด้วยการรวมปัจจัยด้านความยั่งยืนในการเลือกคู่ค้า โดยจะมีการประเมินประเด็นสำคัญในการกำกับดูแลธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามขั้นตอนดังนี้

  1. การคัดกรองเบื้องต้น
    คู่ค้าที่ลงทะเบียนใหม่ทั้งหมดจะได้รับการประเมินข้อมูลทางธุรกิจขั้นพื้นฐาน ตามปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล รวมถึงการประเมินความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ประวัติการทุจริตและการฉ้อโกง และการปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าของเอไอเส
  2. การคัดกรองก่อนจัดซื้อจัดจ้าง
    ก่อนดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจากคู่ค้ารายสำคัญ เอไอเอสมีการคัดกรองที่ครอบคลุมทั้งด้านบรรษัทภิบาล การฉ้อโกงและการทุจริต แนวปฏิบัติด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพ และแนวปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เอไอเอสได้กำหนดหลักจรรยาบรรณสำหรับคู่ค้ารวมอยู่ในสัญญามาตรฐานสำหรับคู่ค้าทุกราย รวมถึงข้อกำหนดเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าเฉพาะกลุ่ม
  3. การตรวจสอบและประเมินประจำปี
    การประเมินและติดตามความเสี่ยงด้านความยั่งยืนประจำปีจะดำเนินการกับคู่ค้าที่มีอยู่ทั้งหมด ผ่านการตรวจประเมินด้วยแบบสอบถาม การเยี่ยมชมไซต์งาน และการสังเกตการณ์งานที่สำคัญ ตลอดจนการประเมินความเข้าใจของคู่ค้าเกี่ยวกับจรรยาบรรณธุรกิจของเอไอเอสประจำปีโดยผู้ประเมินอิสระ รวมถึงขอความร่วมมือให้คู่ค้าโดยตรง (Tier 1) ที่เป็นคู่ค้ารายสำคัญของเรามีการสื่อสารกับคู่ค้าที่ทำธุรกิจด้วย (Tier 2) ถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน
  4. การดำเนินการแก้ไขและติดตามผล
    จากการประเมินความเสี่ยงโดยคะแนนและการจัดลำดับความสำคัญความเสี่ยง คู่ค้าที่สำคัญซึ่งระบุว่ามีความเสี่ยงสูงด้านความยั่งยืน จะต้องจัดทำแผนบรรเทาความเสี่ยงพร้อมกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าความเสี่ยงได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมภายในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ เรามีการติดตามและตรวจสอบการรายงานผลการปฏิบัติงานของปัญหาที่เกี่ยวข้องเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าความเสี่ยงด้านความยั่งยืนได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม